จากสถานการณ์โรคระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 (COVID-19) ทำให้หลายคนมีความสนใจซื้อประกันสุขภาพกันมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าหลายคนเริ่มตระหนักและห่วงใยสุขภาพ รวมถึงกังวลกับค่าใช้จ่ายต่างๆ สำหรับการเข้ารับการรักษาพยาบาลแต่ละครั้ง เพราะอาจทำให้เงินเก็บที่เก็บมาเกือบทั้งชีวิตหมดไปจากการเจ็บป่วยได้
วันนี้จึงอยากชวนทุกคนมาคิดและตั้งคำถาม เพื่อให้รู้ข้อมูลที่จำเป็นจากตัวแทนหรือพนักงานที่เสนอขายประกันสุขภาพ เพื่อจะได้วางแผนเลือกซื้อได้ถูกต้อง ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อประกันสุขภาพกัน
คิดและตั้งคำถาม เพื่อจะได้วางแผนเลือกซื้อได้ถูกต้อง ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อประกันสุขภาพกัน…
1. ต้องสำรองจ่ายก่อนหรือไม่
แม้จะคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลสูงเป็นสิบล้าน แต่หากต้องสำรองจ่ายไปก่อนแล้วมาเบิกภายหลัง ก็คงไม่มีประโยชน์ที่ต้องทำทุนสูงขนาดนั้น หรือแม้ไม่ใช่ทุนที่สูงก็เป็นสิ่งที่ต้องรู้ เพราะส่งผลต่อการวางแผนสำรองเงินเก็บหรือวงเงินบัตรเครดิตเพื่อเตรียมเป็นค่ารักษาพยาบาล รวมถึงการเลือกโรงพยาบาลที่จะเข้ารับการรักษาเพราะค่าใช้จ่ายของแต่ละโรงพยาบาลนั้นแตกต่างกัน โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนที่ค่ารักษาพยาบาลค่อนข้างสูง
2. ซื้อแล้วคุ้มครองทันทีหรือไม่
มีระยะเวลารอคอย ที่ยังไม่คุ้มครองโรคต่าง ๆ หลังซื้อประกันสุขภาพนานเท่าไร เช่น โรคเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจ 30 วัน ส่วนโรคเฉพาะหรือโรคร้ายแรงอาจ 90 วัน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อน เพราะที่ผ่านมาหลายคนเข้าใจผิดหรือไม่ได้ซักถามคนขายประกันละเอียดพอ ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน เมื่อเกิดกรณีเจ็บป่วยในช่วงระยะเวลารอคอยก็ไม่ได้รับความคุ้มครองและต้องชำระค่ารักษาพยาบาลเอง
3. คุ้มครองโรคอะไรบ้าง
คุ้มครองทุกโรคหรือจำกัดแค่บางโรค ที่สำคัญมีข้อยกเว้นที่ไม่คุ้มครองโรคอะไรบ้าง เป็นสิ่งที่ต้องซักถามก่อนซื้อประกันสุขภาพ เพราะแต่ละบริษัทมีความคุ้มครองโรคที่แตกต่างกันไป เช่น โรคร้ายแรง บางบริษัทอาจคุ้มครอง 27 โรคร้ายแรง แต่บางบริษัทอาจคุ้มครองถึง 30 โรคร้ายแรง การได้ข้อมูลเหล่านี้จะมีประโยชน์ในการตัดสินใจหรือการเปรียบเทียบแบบประกันสุขภาพหรือประกันโรคร้ายแรง
4. เบิกได้เฉพาะกรณีเป็นผู้ป่วยในเท่านั้นหรือไม่
ประกันสุขภาพส่วนใหญ่มักคุ้มครองการเจ็บป่วยเฉพาะกรณีเป็นผู้ป่วยใน หรือหมายถึงต้องนอนโรงพยาบาล 6 ชั่วโมงขึ้นไป หากคุ้มครองกรณีผู้ป่วยนอกด้วย (ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล) ค่าเบี้ยประกันมักสูง แต่การเจ็บป่วยบางกรณีที่อาจรักษาด้วยการผ่าตัดและพักฟื้นไม่ถึง 6 ชั่วโมง บางแบบประกันก็สามารถเบิกได้ตามเงื่อนไข
5. เบิกแบบเหมา หรือแยกค่าใช้จ่าย
แบบเหมาคือเบิกได้ตามค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจริงไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายรายการใดก็ตาม ซึ่งเป็นแบบที่คนส่วนใหญ่เข้าใจง่าย จ่ายเท่าไรเบิกเท่านั้นขอแค่ไม่เกินวงเงินที่กำหนด แต่หากเป็นแบบแยกค่าใช้จ่าย นอกจากมีวงเงินคุ้มครองโดยรวมแล้วยังมีการกำหนดวงเงินของแต่ละรายการค่าใช้จ่ายด้วย เช่น ค่าห้องสูงสุดในแต่ละวัน เป็นต้น
6. จำกัดจำนวนครั้งหรือจำนวนเงินในการเบิกหรือไม่
ถ้ามีแล้วรายละเอียดเป็นอย่างไร เช่น วงเงินต่อครั้งไม่เกิน 50,000 บาท และรวมกันทั้งปีไม่เกิน 500,000 บาท รวมถึงเงื่อนไขวงเงินต่อครั้งนั้น ต้องซักถามด้วยว่าหากเข้ารับการรักษาโรคเดิมหลังการรักษาครั้งล่าสุดกี่วัน ถึงจะนับเป็นวงเงินครั้งใหม่ เช่น โรคเดียวกันถ้าเข้ารักษาห่างกันไม่เกิน 90 วัน เบิกได้รวมกันไม่เกิน 50,000 บาท เพราะถือเป็นการรักษาต่อเนื่องครั้งเดียวกัน
7. หากเกิดเหตุต่างประเทศ คุ้มครองหรือไม่
คำถามนี้เหมาะมากสำหรับคนที่เดินทางต่างประเทศบ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวหรือไปทำงานก็ตาม เพราะหากคุ้มครองจะได้เดินทางอย่างสบายใจหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นขณะอยู่ต่างประเทศ ซึ่งค่ารักษาพยาบาลมักสูงมาก รวมถึงกรณีสำรองจ่ายไปก่อนต้องใช้หลักฐานอะไรบ้าง และเอกสารควรเป็นภาษาอังกฤษหรือไม่ เพื่อจะได้เสียเวลาในการขอเอกสารใหม่หรือค่าใช้จ่ายในการแปลเอกสาร
8. หากถือประกันสุขภาพที่อื่นอยู่ ยังเบิกได้หรือไม่ ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง
บางครั้งเราไม่ได้ซื้อประกันสุขภาพฉบับเดียวหรือบางคนก็มีสวัสดิการจากที่ทำงานอยู่แล้ว การซักถามเงื่อนไขเหล่านี้จึงสำคัญ หากทำประกันมากเกินไปก็อาจจ่ายเบี้ยเกินจำเป็น เพราะหากเป็นการซื้อประกันสุขภาพที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลตามจริง บริษัทจะทำการตรวจสอบว่าเราทำการเบิกประกันหรือสวัสดิการที่อื่นไปก่อนแล้วหรือยัง ซึ่งบริษัทจะคุ้มครองเฉพาะส่วนที่ยังไม่ได้เบิกที่อื่นและไม่เกินวงเงินตามเงื่อนไข
แต่หากเป็นประกันสุขภาพที่จ่าย “เงินชดเชยรายวัน” ไม่ว่าจะทำไว้กี่บริษัทก็สามารถนำสำเนาใบเสร็จไปเบิกได้ทุกที่ ตามจำนวนวันที่นอนโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน โดยไม่สนใจค่ารักษาพยาบาลจริงและมีประกันหรือสวัสดิการที่อื่นอยู่
9. ชำระเบี้ยเป็นรายเดือนต่างกับรายปีหรือไม่
ไม่ว่าจะเป็นค่าเบี้ยโดยรวมทั้งปีเท่ากันหรือแบบรายปีต่ำกว่า หรือเมื่อมีการจ่ายผลประโยชน์เป็นเงินก้อนจะมีการหักค่าเบี้ยในเดือนที่ยังชำระไม่ครบปีก่อนหรือไม่ แล้วผลประโยชน์ส่วนที่เหลือค่อยจ่ายให้เรา
10. ต่ออายุความคุ้มครองได้ถึงปีไหน
หากเป็นประกันสุขภาพแบบซื้อเดี่ยวต้องซักถามว่าสามารถจ่ายเบี้ยประกันเพื่อต่ออายุได้ถึงตอนอายุเท่าไร เพราะหากคาดหวังว่าจะมีโอกาสเบิกประกันนี้ในช่วงหลังเกษียณจากงานประจำไปแล้ว แต่หากประกันนั้นต่ออายุได้ถึงอายุ 60 ปี ก็ถือว่าไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ซื้อ
ส่วนประกันสุขภาพที่เป็นสัญญาเพิ่มเติมที่ต้องซื้อพ่วงกับประกันชีวิตหลัก นอกจากดูปีต่ออายุของสัญญาเพิ่มเติมแล้วต้องดูระยะเวลาของประกันชีวิตหลักด้วย เช่น แม้สัญญาเพิ่มเติมต่อได้ถึงอายุ 80 ปี แต่หากประกันชีวิตหลักครบสัญญาก่อนอายุ 80 ปี ความคุ้มครองสุขภาพก็จะสิ้นสุดลงไปด้วย